หลักการพื้นฐานและความสำคัญในการทำประกันภัยรถยนต์

5 สิงหาคม 2561, เข้าชมแล้ว: 620 views

แต่ในความเป็นจริงแล้วประกันภัยถือเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่งคั่งของบุคคลทุกคนที่จะนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนในการสร้างความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สินทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมไปถึงผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่าการทำประกันภัยนั้นเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่การมีอิสรภาพทางการเงินของปัจเจกบุคคลและความมั่นคงของสังคมโดยรวมด้วย โดยในที่นี้เราจะพูดถึงความสำคัญและประโยชน์ของการทำประกันภัยรถยนต์ รถยนต์ คือ ทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่อยู่ภายใต้ความครอบครองของบุคคลซึ่งเรียกว่า “เจ้าของ” หรือ “ผู้ครอบครอง” โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้ 1. เจ้าของหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ คือ บุคคลที่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตามกฎหมาย โดยสังเกตได้จากเอกสารสิทธิ์ของทางราชการคือกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ออกให้เมื่อมีการยื่นขอจดทะเบียนรถยนต์ ซึ่งผู้ที่จะมีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา นิติบุคคล และ หน่วยงานราชการ 2. ผู้ครอบครองรถยนต์ คือ ผู้ที่อาจไม่ได้มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์แต่เป็นผู้ใช้สิทธิในการครอบครองรถยนต์ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ขอยืมรถจากบุคคลอื่นมาใช้ ผู้ขอยืมถือว่าเป็นผู้ครอบครอง ส่วนผู้ให้ยืมคือเจ้าของ หรือกรณีที่มีการขอสินเชื่อเช่าซื้อ เช่น หากตัวผู้เขียนต้องการซื้อรถโดยการผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ก็จะต้องติดต่อบริษัทไฟแนนซ์ที่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ให้ชำระราคาค่าซื้อรถยนต์กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไปก่อนทั้งจำนวน และผู้เขียนค่อยมาตกลงกับบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อว่าจะมีข้อกำหนดในการผ่อนชำระค่างวดอย่างไร เป็นจำนวนกี่งวด งวดละเท่าไร และจะมีเงินดาวน์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันในแต่ละกรณี ที่กล่าวถึงเรื่องเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์นั้นเป็นการอธิบายให้เข้าใจและรับทราบในเบื้องต้นก่อน เพื่อที่จะได้พูดถึงเรื่องผู้มีส่วนได้เสียในการทำประกันภัยรถยนต์ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการทำประกันภัยต่อไป โดยหลักการดังกล่าวมีอยู่ว่าผู้ทำประกันภัยต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งเป็นหลักที่กฎหมายกำหนดไว้และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งตรงนี้หากไม่มีการอธิบายขยายความก็อาจทำให้ผู้อ่านหรือบุคคลทั่วไปไม่เข้าใจถึงหลักการและเหตุผลในเรื่องนี้ได้ กล่าวคือผู้มีส่วนได้เสียในตัวรถยนต์คือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรถยนต์คันดังกล่าว ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องในลักษณะเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองก็ตาม อย่างเช่น ผู้ที่ซื้อรถยนต์โดยการซื้อเงินสดทั้งจำนวนเรียกว่าเป็นเจ้าของรถยนต์และถือว่ามีส่วนได้เสียที่สามารถทำประกันภัยให้กับรถยนต์คันดังกล่าวได้ เนื่องจากหากนำรถคันดังกล่าวไปใช้งานจนเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนและมีความเสียหายเกิดขึ้น เจ้าของรถคันนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าว และอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้หากความเสียหายนั้นเกิดขึ้นกับคู่กรณีหรือบุคคลภายนอก หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่นผู้ครอบครองรถยนต์ที่ขอสินเชื่อจากบริษัทไฟแนนซ์ แม้จะยังไม่ได้มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์ก็ตามแต่ก็เป็นผู้ต้องรับผิดชอบในการชำระราคาค่างวดรถยนต์ซึ่งหากเกิดความเสียหายขึ้นกับรถคันดังกล่าวแล้วย่อมมีผลกระทบต่อผู้ครอบครองรถยนต์นั้นด้วย อย่างเช่น รถที่เช่าซื้อเกิดสูญหายไปผู้เช่าซื้อก็ยังไม่พ้นภาระหนี้ในการผ่อนชำระราคาค่างวดรถยนต์คันดังกล่าว ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถทำประกันภัยให้กับรถยนต์ที่ตนมีความเกี่ยวข้องเพื่อลดความเสียหายในทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยบริษัทประกันจะเป็นผู้เข้ามาชดใช้ความเสียหายดังกล่าวแทนผู้ทำประกัน โดยจะชำระค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายอื่นให้กับคู่กรณีและบุคคลภายนอกกรณีมีการเฉี่ยวชนกันและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือชำระราคาค่างวดที่เหลือให้กับบริษัทสินเชื่อแทนผู้เช่าซื้อที่อยู่ในฐานะผู้ครอบครองกรณีรถยนต์เกิดการสูญหาย ในทางกลับกันหากผู้ทำประกันภัยไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียแล้วอาจมีกรณีการตั้งใจทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายเพื่อเอาเงินประกันซึ่งถือเป็นการทำทุจริตเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงออกข้อกำหนดห้ามไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคมโดยรวม ทั้งนี้ การทำประกันภัยรถยนต์นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.การทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือการทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ที่เรียกว่าทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. นั้น เพราะเป็นการทำตามกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีชื่อเต็มว่า “พระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง” ซึ่งเป็นกฎหมายล่าสุดที่มีผลบังคับให้รถยนต์ที่นำมาใช้งานบนท้องถนนทุกคันนั้นต้องทำประกันภัยเพื่อให้มีความคุ้มครองในเบื้องต้น 2.การทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เป็นการทำประกันภัยที่ไม่ได้มีกฎหมายบังคับแต่เพื่อให้มีความคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถว่าต้องการความคุ้มครองเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยมีรูปแบบประกันให้เลือกมากมายหลายประเภท ทั้งหมดที่กล่าวมาก็ถือเป็นเกร็ดความรู้ที่ช่วยทำให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลเพื่อความเข้าใจในเรื่องการทำประกันภัยรถยนต์มากยิ่งขึ้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยและน่าจะทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยรถยนต์มากยิ่งขึ้น

ความรู้เรื่องรถ อื่น ๆ